อย่าลืม…ยื่นภาษี 2564 ต้องรีบแล้ว!!!
วันที่ 29 มิ.ย. 2564
อย่าลืม…ยื่นภาษี 2564 ต้องรีบแล้ว!!!
IT Outsourcing คืออะไร
กรมสรรพากรขยายเวลายื่นภาษีปี 2564 (การยื่นแบบ Online ภ.ง.ด.90/91 ของปี2563) สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ มนุษย์เงินเดือน อย่างเรา ได้แก่…พนักงาน Office ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรายวัน/รายชั่วโมง ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาท/ต่อปี
สามารถยื่นภาษี Online ได้ที่ www.rd.go.th
ใครยังไม่ยื่น…. สามารถมาดูขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ด้านล่างได้เลยค่ะ…
1.เตรียมเอกสารให้พร้อม
– ใบ 50ทวิ: หนังสือสรุปรายได้ทั้งปีของเรา ว่ามีรายได้เท่าไหร่ โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปเท่าไหร่ ซึ่งจะขอได้จากฝ่ายบุคคลของบริษัท
– หลักฐานแสดงรายการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการซื้อ RMF/SSF, หนังสือรับรองการซื้อเบี้ยประกันชีวิต, หนังสือรับรองดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ฯลฯ ลองเช็กดูให้ดีว่าตัวเองมีรายการลดหย่อนอะไรบ้าง…
– Username / Password สำหรับยื่นภาษีออนไลน์ โดยสมัครสมาชิกได้ที่ https://epit.rd.go.th/EFILING/RegController
2.เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร
www.rd.go.th เลือก “ยื่นออนไลน์” จากนั้นเลือก “ยื่นภาษี ภ.ง.ด.90/91” เมื่อล็อกอินเข้าระบบ ใครที่สมัครสมาชิกแล้วก็ให้ใส่หมายเลขผู้ใช้ (เลขบัตรประชาชน) และรหัสผ่าน
3.จากนั้นเราจะมาที่หน้า “ข้อมูลผู้มีเงินได้”
ซึ่งจะแสดงชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ตรวจดูว่าถูกต้องไหม หากมีตรงไหนผิดพลาดให้กดแก้ไขได้ที่ปุ่ม “เปลี่ยนชื่อ – สกุล ผู้มีเงินได้” และ “แก้ไขที่อยู่”
4.เสร็จแล้วจะมากันที่ “หน้าหลัก” คือเราต้องเลือกสถานภาพตัวเองให้ถูกต้อง โดย
มีส่วนที่ต้องดูเป็นพิเศษ ดังนี้
– สถานภาพผู้มีเงินได้
– สถานะการยื่นแบบ
5.เลือกประเภทเงินได้ และค่าลดหย่อน
หน้านี้สำคัญห้ามเลือกผิดเด็ดขาด โดยแบ่งเป็นฝั่งซ้ายให้เลือกว่าเรามีรายได้จากช่องทางไหนบ้าง ซึ่งหลักๆ แล้ว ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็จะต้องเลือกเงินได้มาตรา 40(1) แต่ถ้ามีรายได้อื่นๆ อย่าลืมติ๊กให้ครบตามเงินได้แต่ละข้อด้วย
ส่วนฝั่งขวาจะเป็นค่าลดหย่อนภาษี ซึ่งแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ลองสำรวจให้ดีว่าตัวเองมีอะไรบ้าง เช่น เงินสมทบประกันสังคม, เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เบี้ยประกันชีวิต, วงเงินกองทุน SSF/RMF เป็นต้น
6.กรอกเงินได้ประจำปีให้ถูกต้อง
ตรงนี้ดูได้เลยจากใบ 50 ทวิ ที่ฝ่ายบุคคลให้เรา โดยช่องที่ต้องใส่ คือ เงินได้พึงประเมิน ภาษีที่หักและนำส่งไว้ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (ของนายจ้างเรา) ส่วนใครที่มีเงินได้จากส่วนอื่นๆ นอกจากเงินเดือน และโบนัส ก็อย่าลืมใส่ให้ครบถ้วนด้วยนะ
7.กรอกค่าลดหย่อนภาษี
ตรงนี้ใครมีค่าลดหย่อนอะไร เท่าไหร่ ก็ใส่ตัวเลขให้ถูกต้องครบถ้วน จะได้ไม่เสียสิทธิ
8.เมื่อกรอกทุกอย่างครบแล้ว
ระบบจะคำนวนเงินภาษีให้อัตโนมัติ เพื่อให้เราทราบว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือ ได้เงินภาษีคืนเท่าไหร่
หน้าที่ของเราคือต้องตรวจสอบความถูกต้อง ว่ามีเงินส่วนไหนตกหล่นหรือเกินมาบ้าง ลองรีเช็คหลายๆ รอบ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น
9.ถ้าทุกอย่างถูกต้อง
ก็ให้กด “ยืนยันการยื่นแบบ” เพื่อเป็นการยืนยันและเสร็จขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์
10.สุดท้ายนี้ กรณีต้องจ่ายภาษีเพิ่ม สามารถจ่ายผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
– พร้อมเพย์
– บัตรเครดิต, ATM, Internet Banking, เคาน์เตอร์ธนาคารที่เข้าร่วม
– เคาน์เตอร์เซอร์วิส
– ไปรษณีย์ไทย
กรณีได้เงินภาษีคืน ให้เราอัปโหลดหลักฐานให้ครบถ้วน และเลือกรับเงินคืนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ หรือ เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย